วันพุธที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2558








พื้นฐานเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น





เศรษฐศาสตร์เป็นสาขาวิชาหนึ่งของสังคมศาสตร์ เป็นการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ที่เกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อันได้แก่ กิจกรรมการผลิต การกระจายสินค้าและบริการต่างๆที่ผลิตได้ไปสู่ผู้บริโภคและผู้ใช้บริการ กิจกรรม ทางเศรษฐกิจดังกล่าวนี้เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราทุกคน เพราะเราต่างก็คือผู้ผลิตและ/หรือ ผู้บริโภค เศรษฐศาสตร์จึงมิใช่วิชาที่อยู่ไกลตัว หากเราได้ศึกษาและทำความเข้าใจกฎเกณฑ์และเนื้อหาของวิชาเศรษฐศาสตร์ไปตามลำดับขั้น ก็ย่อมจะเกิดความเข้าใจในสาขาวิชานี้ได้ไม่ยากนัก
ความหมายของวิชาเศรษฐศาสตร์
โดยทั่วไปก่อนที่จะศึกษาอะไร สิ่งที่ผู้ศึกษาควรจะต้องทราบเป็นลำดับแรกก็คือสาขาวิชานั้นๆเป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องใด สำหรับการศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ (Economics) ก็เช่นเดียวกัน มีผู้รู้ได้ให้คำนิยามของวิชาเศรษฐศาสตร์ไว้มากมายหลายท่าน อาทิ
อัลเฟรด มาร์แชลล์ (Alfred Marshall) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ ได้กล่าวถึงความหมาย ของวิชาเศรษฐศาสตร์ไว้ในหนังสือ Principle of Economics ว่าเป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรม ของมนุษย์ทั้งระดับบุคคลและสังคม ในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อการดำรงชีพให้ได้รับความสุขสมบูรณ์
พอล แซมมวลสัน (Pual Samuelson) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ได้ให้คำนิยามวิชาเศรษฐศาสตร์ว่าคือวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับวิธีการที่มนุษย์และสังคมจะโดยใช้เงินหรือไม่ก็ตาม ตัดสินใจเลือกใช้ทรัพยากรการผลิตที่มีอยู่อย่างจำกัดไปในการผลิตสินค้าและบริการ และจำหน่ายจ่ายแจกสินค้า และบริการเหล่านั้นไปยังกลุ่มบุคคลต่างๆในสังคมทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ส่วนคำนิยามที่ได้รับความนิยมได้แก่คำนิยามของไลโอเนล รอบบินส์ (Lionel Robbins) ซึ่งเขียนไว้ในหนังสือชื่อ An Essay o­n the Nature and Significance of Economic Science ว่าเศรษฐศาสตร์คือวิชาที่ศึกษาถึงการเลือกหาหนทางที่จะใช้ปัจจัยการผลิตอันมีอยู่อย่างจำกัด เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามจุดประสงค์ที่มีอยู่อย่างนับไม่ถ้วน
ประยูร เถลิงศรี ให้คำนิยามไว้ในหนังสือ หลักเศรษฐศาสตร์ ว่าวิชาเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาสังคมศาสตร์ที่เกี่ยวกับการศึกษาว่ามนุษย์เลือกตัดสินใจอย่างไรในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อผลิตสิ่งของและบริการ และแบ่งปันสิ่งของและบริการเหล่านั้นเพื่ออุปโภคและบริโภคระหว่างบุคคล ต่างๆในสังคม ทั้งในเวลาปัจจุบันและในอนาคต
มนูญ พาหิระ ให้คำนิยามไว้ในหนังสือ ทฤษฎีราคา ว่าเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่ศึกษาในเรื่อง ที่เกี่ยวกับการนำทรัพยากรที่มีอยู่ในระบบเศรษฐกิจมาทำการผลิตสินค้าและบริการเพื่อสนองหรือบำบัดความต้องการของมนุษย์
นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการอีกหลายท่านที่ได้ให้ความหมายของคำว่าเศรษฐศาสตร์ไว้ อย่างไรก็ตาม พอสรุปได้ว่า วิชาเศรษฐศาสตร์เป็นการศึกษาถึงวิธีการจัดสรรทรัพยากรอันมีอยู่อย่างจำกัดเพื่อผลิตสินค้าและบริการต่างๆสนองความต้องการของมนุษย์ซึ่งโดยทั่วไปมีความต้องการไม่จำกัด ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ความเป็นมาของวิชาเศรษฐศาสตร์
แนวความคิดทางเศรษฐศาสตร์มีมาตั้งแต่สมัยโบราณโดยแทรกอยู่ในข้อเขียนและหนังสือสอนศาสนาของนักปราชญ์ในสมัยนั้น เช่น หลักปรัชญาของโซเครตีส (Socrates) เพลโต (Plato) ฯลฯ แต่แนวความคิดดังกล่าวยังไม่ถือเป็นหลักหรือทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ จนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 15 ซึ่งเป็นสมัยที่การค้าทางยุโรปเจริญรุ่งเรืองมาก ได้เกิดลัทธิพาณิชย์นิยม (mercantilism) หรือพวกที่นิยมการทำการค้า นักพาณิชย์นิยมมีความเชื่อว่าประเทศจะมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจก็ต่อเมื่อประเทศนั้นๆขายสินค้าขาออกให้ต่างประเทศเป็นมูลค่ามากกว่าการซื้อสินค้าขาเข้า หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือเศรษฐกิจของประเทศจะมั่นคงก็ต่อเมื่อประเทศนั้นมีดุลการค้าที่เกินดุล ทั้งนี้ เพราะเห็นว่าการที่ประเทศมีดุลการค้าเกินดุลทำให้มีทองคำและเงินตราไหลเข้าประเทศมากๆจะเป็นการส่งเสริมการจ้างงานภายในประเทศ เนื่องจากเมื่อประเทศมีปริมาณเงินหมุนเวียนมากจะทำให้การค้าเจริญ เมื่อการค้าเจริญการผลิตย่อมเพิ่มขึ้นตาม ส่งผลให้เกิดการว่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นในที่สุด ประชาชนจะมีความอยู่ดีกินดีเนื่องจากมีงานทำและมีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ นักพาณิชย์นิยมยังมีความเชื่อว่า การที่ประเทศจะมั่งคั่งคือมีดุลการค้าที่เกินดุลนั้น รัฐจะต้องเข้ามามีบทบาทในการแทรกแซงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในด้านการค้ากับต่างประเทศ กล่าวคือ รัฐจะต้องส่งเสริมให้มีการส่งออกให้มากพร้อมกับให้มีการจำกัดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ รัฐจะเป็นผู้กำหนดนโยบายการค้าและนโยบายด้านเศรษฐกิจอื่นๆ โดยเอกชนเป็นผู้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐ
กล่าวโดยสรุป แนวความคิดของลัทธิพาณิชย์นิยมไม่สนับสนุนแนวความคิดของระบบเศรษฐกิจแบบเสรี แต่เป็นลัทธิที่สนับสนุนให้รัฐบาลมีบทบาทในการควบคุมและแทรกแซงกิจกรรมทาง เศรษฐกิจ โดยพยายามทำให้ประเทศมีดุลการค้าที่เกินดุลมากๆแล้วเศรษฐกิจของประเทศจะมั่งคั่ง ประชาชนจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 18 อดัม สมิท (Adam Smith) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ ซึ่งเป็นแกนนำของนักเศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิก (classical school) ได้เขียนหนังสือชื่อ An Inquiry into the Nature and Causes of the Wealth of Nations หรือที่นิยมเรียกสั้นๆว่าThe Wealth of Nations ใน ค.ศ. 1776 นับได้ว่าเป็นตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกและยิ่งใหญ่ที่สุด เล่มหนึ่งของโลกมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งทำให้อดัม สมิทได้รับการยอมรับและยกย่องให้เป็น บิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ แนวคิดหลักของสำนักคลาสสิกสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม (laissez-faire) โดยจำกัดบทบาทของรัฐบาลในด้านเศรษฐกิจเพราะมีความเชื่อว่าระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม จะทำให้ประเทศพัฒนาไปได้ด้วยดี เศรษฐกิจของประเทศจะมีความมั่งคั่งก็ต่อเมื่อรัฐบาลแทรกแซงหรือมีบทบาทในกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้น้อยที่สุด (ไม่แทรกแซงเลยดีที่สุด) รัฐบาลมีหน้าที่เพียงแต่คอยอำนวยความสะดวก รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และป้องกันประเทศ ปล่อยให้เอกชน เป็นผู้ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเสรี นั่นคือ สมิทเชื่อใน พลังงานกลไกตลาด (ราคา) หรือ ที่เขาเรียกว่า มือที่มองไม่เห็น (invisible hand) นอกจากสมิทแล้วนักเศรษฐศาสตร์ในกลุ่มของ คลาสสิกยังมีทอมัส มัลทัส (Thomas Multhus) เดวิด ริคาร์โด (David Ricardo) จอห์น มิลล์ (John Mill)
หลังจากกลุ่มของสำนักคลาสสิกก็เป็นกลุ่มของสำนักนีโอคลาสสิก (neoclassical school) ซึ่งเป็นสำนักเศรษฐศาสตร์ที่ก่อตัวและพัฒนาขึ้นในตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 แนวคิดหลักของสำนักนีโอคลาสสิกส่วนมากสืบต่อหรือดัดแปลงแก้ไขมาจากแนวคิดของสำนักคลาสสิก โดยเชื่อว่าการแข่งขันอย่างเสรีจะเป็นแรงผลักดันให้เศรษฐกิจมีความมั่งคั่ง นั่นคือ สนับสนุนแนวคิดของระบบเศรษฐกิจแบบเสรีเช่นเดียวกับของสำนักคลาสสิก นอกจากนั้น ยังเน้นให้เห็นว่าเนื่องจากทรัพยากรมีจำนวนจำกัด ดังนั้นผู้บริโภคจะต้องพยายามเลือกบริโภคสินค้าและบริการเพื่อให้ได้รับความพอใจสูงสุด และเช่นเดียวกัน ผู้ผลิตจะต้องตัดสินใจเลือกวิธีการผลิตที่ทำให้เสียต้นทุนต่ำที่สุดหรือให้ได้กำไรสูงสุด นั่นคือ แต่ละฝ่ายจะต้องพยายามใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและประหยัดที่สุด นักเศรษฐศาสตร์ที่เป็นผู้ วางรากฐานแนวคิดที่สำคัญของสำนักนีโอคลาสสิกคืออัลเฟรด มาร์แชลล์ นอกจากนี้ ยังมีเลอง วาลรา ( Walras) วิลเฟรโด พาเรโต (Vilfredo Pareto) ฯลฯ
นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ของทั้งสำนักคลาสสิกและนีโอคลาสสิกต่างมีความเชื่อว่า อุปทานจะเป็นตัวสร้างอุปสงค์(supply creates its own demand) ซึ่งแนวคิดดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันว่าคือ กฎของเซย์ (Say's law) ซึ่งมีสาระสำคัญว่าอุปทานจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์ กล่าวคือ ไม่ว่า ผู้ผลิตจะผลิตสินค้าหรือบริการอะไรออกมาก็จะมีผู้รับซื้ออยู่ตลอดเวลา นั่นคือ จะไม่เกิดภาวะสินค้าล้นตลาด ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หรือเกิดการว่างงาน ซึ่งต่อมาแนวความคิดนี้ไม่ตรงกับความเป็นจริง เนื่องจากเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง เกิดปัญหาการว่างงานจำนวนมากใน ค.ศ. 1930 ซึ่งกฎของเซย์ไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นดังกล่าวได้
ในขณะนั้น จอห์น เคนส์ (John Keynes) แกนนำแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์ (Keynesian Economics) ได้เขียนหนังสือชื่อ The General Theory of Employment, Interest and Money ซึ่งถือว่าเป็นตำราเศรษฐศาสตร์มหภาคเล่มแรกของโลก ใน ค.ศ. 1936 เพื่ออธิบายถึงสาเหตุของภาวะสินค้าล้นตลาด เศรษฐกิจตกต่ำ และการว่างงานจำนวนมากตลอดจนวิธีการแก้ไข นับเป็นครั้งแรกของวงการเศรษฐศาสตร์ที่ได้มีการศึกษาเศรษฐศาสตร์โดยรวมของทั้งระบบเศรษฐกิจหรือของทั้งประเทศ เคนส์มีความเชื่อว่าแนวความคิดที่ถูกต้องคืออุปสงค์จะเป็นตัวกำหนดอุปทาน ซึ่งตรงข้ามกับกฎของเซย์ โดยอุปสงค์และอุปทานดังกล่าวเป็นตัวมวลรวมของทั้งประเทศ เคนส์อธิบายว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำคือการที่ระบบเศรษฐกิจมีอุปสงค์มวลรวมน้อยเกินไป ดังนั้นวิธีแก้ไขคือการเพิ่มอุปสงค์มวลรวมของระบบเศรษฐกิจโดยใช้นโยบายการเงินการคลัง จะเห็นได้ว่าเคนส์เป็นนักเศรษฐศาสตร์คนแรกของโลกที่กล่าวถึงหรือให้ความสนใจกับเศรษฐกิจมวลรวม อันเป็นมูลเหตุที่ทำให้มีการแยกศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ออกเป็น 2 ภาค คือ ภาคเศรษฐกิจส่วนย่อยซึ่งเรียกว่าเศรษฐศาสตร์จุลภาค กับภาคเศรษฐกิจส่วนรวมซึ่งเรียกว่าเศรษฐศาสตร์มหภาค และยกย่อง ให้เคนส์เป็น บิดาของวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาค
ความเป็นมาของวิชาเศรษฐศาสตร์ในประเทศไทย
สำหรับประเทศไทยเป็นที่เชื่อกันว่าการดำเนินการเกี่ยวกับเศรษฐกิจตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้น มาอาศัยแนวความคิดเศรษฐกิจแบบเสรี ดังจะเห็นได้จากหลักศิลาจารึกในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชมีใจความตอนหนึ่งว่า ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า ใครจักใคร่ค้าเงินค้าทองค้า ไพร่ฟ้าหน้าใส อย่างไรก็ตาม ในสมัยนั้นยังไม่มีการรวบรวมความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ไว้เป็นหลักเกณฑ์ ที่แน่นอน จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2454 พระยาสุริยานุวัตรได้แต่งตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกขึ้นมีชื่อว่า ทรัพยศาสตร์ โดยมีสาระเกี่ยวกับการสร้างทรัพย์และผลตอบแทนในรูปต่างๆ ได้แก่ ค่าเช่า ค่าจ้าง กำไร ฯลฯ แต่ก็มิได้นำออกเผยแพร่ในขณะนั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2475 จึงได้พิมพ์เผยแพร่โดยใช้ชื่อว่า เศรษฐศาสตร์วิทยาภาคต้น เล่ม 1 และในปี พ.ศ. 2459 กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (น.ม.ส.) ได้ ทรงแต่งตำราเรื่อง ตลาดเงินตรา ขึ้น แต่ก็ไม่เป็นที่แพร่หลายนัก
การศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ของประเทศไทยเริ่มขึ้นอย่างจริงจังเมื่อมีการก่อตั้งมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์และการเมืองในปี พ.ศ. 2477 โดยได้มีการเปิดสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งในขณะนั้นได้มีผู้รู้ทางเศรษฐศาสตร์ของไทยแต่งตำราเศรษฐศาสตร์เพิ่มเติมจากเดิม ได้แก่ นายสหัส กาญจนพังคะ แปลตำราชื่อ หลักเศรษฐศาสตร์ของชาลส์ จีด จากตำรา The Principles of Political Economy ของศาสตราจารย์ชาลส์ จีด (Charles Gide) ในปี พ.ศ. 2479 พระสารสาส์นพลขันธ์ได้แต่งตำราชื่อ เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการค้า และ เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการเงิน ในปี พ.ศ. 2480 และ 2481 ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ต้องหยุดชะงักไปชั่วคราวอันเนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยภายหลังจากสงครามสงบลง ในปี พ.ศ. 2492 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองได้จัดแบ่งการศึกษาออกเป็นสาขาวิชาต่างๆ 4 คณะด้วยกัน คือ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี คณะรัฐศาสตร์ และคณะนิติศาสตร์ นับตั้งแต่นั้นมาจึงได้มีการศึกษา วิชาเศรษฐศาสตร์กันอย่างแพร่หลายในสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปัจจุบันในระดับปริญญาเอก รวมทั้งได้ขยายการศึกษาออกไปสู่ระดับต่ำกว่าปริญญาตรีด้วย
ประโยชน์ของวิชาเศรษฐศาสตร์
ก่อนที่จะกล่าวถึงประโยชน์ของวิชาเศรษฐศาสตร์ คำถามหนึ่งที่น่าสนใจคือ ทำไมเราจึงต้องศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ จากความหมายของวิชาเศรษฐศาสตร์ดังกล่าวมาแล้ว จะเห็นได้ว่าประเทศต่างๆในโลกต่างต้องประสบกับปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจร่วมกัน อันเนื่องมาจากความไม่สมดุลระหว่างปริมาณของทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่มีอยู่อย่างจำกัดกับความต้องการของมนุษย์ที่มีไม่จำกัด ทำให้จำเป็นต้องมีการศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์เพื่อหาวิธีการที่ดีที่สุดที่จะนำมาใช้จัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดไปในการผลิตสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ที่มีไม่จำกัดให้เกิด ประสิทธิภาพสูงสุด อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าเฉพาะแต่ผู้เรียนทางด้านเศรษฐศาสตร์เท่านั้นที่จำเป็นต้อง ศึกษาวิชาการนี้ ผู้เรียนในสาขาอื่นๆรวมทั้งประชาชนทั่วไปก็ควรมีความรู้พื้นฐานทางด้านเศรษฐศาสตร์ด้วย เพื่อจะได้มีความเข้าใจในปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นในระดับส่วนตัว ครอบครัว หรือระดับของประเทศ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าปัญหาด้านเศรษฐกิจเป็นปัญหาที่ทุกๆคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เนื่องจากเป็นปัญหาในชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคล ดังนั้นการมีความรู้พื้นฐาน ทางด้านเศรษฐศาสตร์จะเป็นประโยชน์ต่อตัวของบุคคลนั้นทั้งทางตรงและทางอ้อม
ผู้ศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์สามารถนำเอาความรู้ที่ได้รับมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในด้านต่างๆ มากมายดังนี้
  1. ในฐานะผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกบริโภคสินค้าและบริการที่ทำให้ตนได้รับความพอใจสูงสุดภายใต้ระดับรายได้ที่มีอยู่ เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด คุ้มค่า และเกิดประโยชน์มากที่สุด นอกจากนี้ ยังทำให้ผู้บริโภคมีความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงของปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์นั้นๆได้เป็นอย่างดี เช่น สามารถคาดคะเนการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการได้อย่างถูกต้องและมีเหตุมีผล กำหนดแผนการบริโภค การออม และการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม เป็นต้น
  2. ในฐานะผู้ผลิต ทำให้ผู้ผลิตตัดสินใจเลือกใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดไปในการผลิต สินค้าและบริการอย่างคุ้มค่า ประหยัด ช่วยลดต้นทุนการผลิต ทำให้ธุรกิจได้รับกำไรเพิ่มขึ้น และใน ทำนองเดียวกับผู้บริโภคคือทำให้ผู้ผลิตมีความเข้าใจในปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น เช่น เข้าใจ ในความเป็นไปของปรากฏการณ์ของวัฏจักรเศรษฐกิจว่าโดยปกติเศรษฐกิจจะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นๆ ลงๆอย่างนี้เรื่อยไป ทำให้ผู้ผลิตสามารถตัดสินใจเลือกลงทุนในการดำเนินธุรกิจเหมาะสมกับสถานการณ์ ในขณะนั้นๆ เป็นต้น
  3. ในฐานะรัฐบาล การที่รัฐบาลมีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์จะทำให้เข้าใจลักษณะและโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ สามารถวิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหาทางเศรษฐกิจและหาแนวทาง แก้ไข โดยกำหนดออกมาเป็นแผนและนโยบายทางเศรษฐกิจที่จะนำไปใช้แก้ปัญหาให้เกิดประสิทธิภาพ และประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศ




https://www.google.co.th/search?q=เศรษฐศาสตร์&newwindow
http://knowledge.eduzones.com/knowledge-2-10-27871.html
https://www.google.co.th/search?q=เศรษฐศาสตร์-ทั่วไป&newwindow

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น